The new normal – เรียนรู้ชีวิตวิถีใหม่ เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

ในยุคที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังจะผ่านพ้นไป ส่งผลให้มีการเกิด New Normal ​ สิ่งที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ กลับกลายเป็นเรื่องปกติทั่วไปสำหรับโลกใบใหม่ ธุรกิจจึงจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

ภาพของห้างสรรพสินค้าที่เงียบงัน สินค้าในซุปเปอร์มาเก็ตที่เกลี้ยงแผง สนามบินที่ไร้การสัญจรทางอากาศ ถนนแทบทุกสายต่างโล่งราวกับช่วงวันหยุดยาว ภาพเหล่านี้เคยปรากฎอยู่ในหนังซอมบี้ แต่บัดนี้เกิดขึ้นจริงในบ้านเมืองเรา หากย้อนกลับไปเมื่อ 5 เดือนก่อน ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในอู่ฮั่นเริ่มลุกลาม แต่เรายังมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว จึงมีเพียงแค่การส่งกำลังใจให้พวกเขาผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

ในที่สุดเราก็มาถึงจุดนี้ โควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ เหล่านี้ ก็มาพร้อมกับบทเรียนที่ท้าทายให้เราต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอด

  1. แม้ว่าส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก แต่ควรมีแผนสำรองเพื่อลดการพึ่งพาด้าน supply chain จากต่างประเทศ

หากธุรกิจของคุณต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้า ชิ้นส่วน หรือวัตถุดิบจากแหล่งผลิตนอกประเทศ นั่นหมายความว่าคุณกำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนสินค้า ทั้งจากความล่าช้าด้านการขนส่ง รวมถึงการผลิตที่หยุดชะงัก อันเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ส่งผลให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจในสถานการณ์ที่ตลาดกำลังมีความต้องการสูงมากแต่กลับไม่มีสินค้าจำหน่ายนั่นเอง

โลกาภิวัตน์หรือการพึ่งพิงระบบการผลิตระหว่างประเทศนั้นเป็นผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจทั้งในแง่ต้นทุนและช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างรวดเร็วก็จริง แต่ต้องไม่เป็นการพึ่งพิงมากจนเกินไปเพราะจะกลายเป็นเรื่องอันตรายเหมือนเช่นกับสถานการณ์ในช่วงนี้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ทุกองค์กรจะต้องกลับมาทบทวนนโยบายด้านการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน เพื่อลดความเสี่ยงด้าน global supply chain นั่นเอง ซึ่งวิธีการง่ายๆ แค่เพียงนำเอารายการวัตถุดิบ ชิ้นส่วน หรือสินค้า และซัพพลายเออร์แต่ละแหล่งมาพิจารณา จากนั้นทำการวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงของแต่ละรายการที่อาจเป็นไปได้ ซึ่งจะทำให้มองภาพใหญ่ออกว่าจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างไรบ้าง

จากรายงาน “Managing supply chain risk and disruption” ของ Deloitte พบว่า บริษัทต่างๆ สามารถรับมือกับปัญหา supply chain ภายใต้วิกฤตการณ์นี้ได้โดยการวางแผนจัดการความเสี่ยงและการทำ business continuity plan โดยมีการมองหาแหล่งผลิตที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านซัพพลายเออร์  ในช่วง โควิด-19 รวมถึงการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มการมองเห็นสินค้าและวัตถุดิบทุกรายการภายในระบบ เพื่อการคาดการณ์ล่วงหน้า พร้อมทั้งการรับมือได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง

จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ส่งผลให้เราต่างตระหนักในด้านการปรับตัวเพื่อพัฒนากลยุทธ์ในการบริหารจัดการซัพพลายเออร์ และเรียนรู้ที่จะนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็นมาช่วยสนับสนุนแผนปฎิบัติงานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ New normal ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังที่การแพร่ระบาดนั้นสิ้นสุดลง จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนในการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้นั่นเอง

 

  1. เทคโนโลยี การปรับตัว และการต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน จะส่งผลให้การทำงานแบบ Remote working กลายเป็นรูปแบบการทำงานในอนาคตที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ก่อนจะมี COVID-19 แทบไม่มีใครรู้เสียด้วยซ้ำว่า “WFH” นั้นย่อมาจากคำว่า Work from home ต่างกับทุกวันนี้ที่ใคร ๆ ก็ Work from home กันเกือบหมด ถึงแม้ในช่วงแรกเจ้าของบริษัทบางแห่งก็ยังไม่เคยคิดมาก่อนว่าองค์กรของตนจะสามารถทำงานแบบ WFH ได้ หรือยังไม่มีแม้แต่เครื่องมือหรือเทคโนโลยีในการวางระบบ WFH แต่เมื่อสถานการณ์บังคับทุกคนจึงต้องพยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ และถูกกระตุ้นให้ทำ Digital transformation ไปโดยปริยาย สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างการประชุม การหาลูกค้า การปิดการขาย ก็สามารถเกิดขึ้นได้ โดยหลังจาก 2 สัปดาห์แรกที่ประเทศไทยประกาศ Lock down บรรดานายจ้างและลูกจ้างทั้งหลายต่างรีบจัดเตรียมแผนการเพื่อรองรับการ Work from home ไม่ว่าจะเป็นด้านอุปกรณ์ การทำหนด Workflow ช่องทางการสื่อสาร ระบบติดตามการทำงาน รวมถึงเตรียมการด้านกลยุทธ์กรณีที่ต้อง Work from home ในระยะยาวให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการเข้าออฟฟิศ

สำหรับธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องมีการพบปะกันแบบตัวต่อตัวกับลูกค้า หากต้อง WFH แล้ว ความท้าทายอยู่ที่ว่าจะบริหารประสิทธิภาพการทำงานและติดตามความคืบหน้าของโปรเจคต่างๆ ได้อย่างไร? ทั้งนี้ธุรกิจส่วนใหญ่ได้มีการเลือกใช้การประชุมงานผ่านวิดีโอ เช่น Zoom, Skype, Google Hangout หรือ Microsoft Teams และการส่งข้อความติดต่อประสานงานภายในองค์กรผ่าน Slacks เพื่อ Monitor การทำงานของคนในทีม และด้วยความสามารถของเครื่องมือเหล่านี้ ทำให้นาทีนี้เรียกได้ว่าแทบไม่มีใครไม่รู้จัก “Zoom” ตัวช่วยการประชุมงานที่กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก นี่คือ New normal ในการดำเนินธุรกิจและการทำงาน นอกจากนี้บริษัทยังต้องจัดสรรเครื่องมือหรือเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการแบบ Work remote เช่น การจัดซื้อพื้นที่เก็บเอกสารบนคลาวด์และไฟล์แชร์ภายในบริษัทอย่าง Google Drive, Box, หรือ Microsoft OneDrive หรือเครื่องมือในการติดตามงานเช่น Trello, Asana หรือ Monday ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันและติดตามความคืบหน้าของโปรเจคต่างๆ ได้อีกด้วย

สำหรับธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องมีการพบปะกับลูกค้าโดยตรง จากผลสำรวจของ

และจากผลสำรวจยังพบอีกว่าในอินเดียและจีน กว่า 55% ของการติดต่อและปิดการขายกับลูกค้าผ่านทางช่องทางดิจิทัลนั้นมีประสิทธิภาพดีกว่าการเข้าไปพบลูกค้าโดยตรง เนื่องจากสามารถนำเสนองานให้กับลูกค้าได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เช่น การทำเว็บไซต์ข้อมูลหรือแอปพลิเคชั่นเพื่อให้ข้อมูลและช่องทางการติดต่อที่สะดวกต่อทั้งสองฝ่าย

เราเรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งเหล่านี้ สิ่งแรกคือในอนาคตต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานอย่างแน่นอน ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่าด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการทำงาน จนทำให้การ Work from home เป็นไปได้เกือบจะ 100%  ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ New normal ฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรคำนึงถึงความจำเป็นในการเข้าออฟฟิศของพนักงาน ซึ่งจะต้องมีมาตรการทางสังคมที่ต้องเว้นระยะห่าง พื้นที่ส่วนรวมของพนักงานยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ หรือควร Work from home ไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

 

  1. เมื่อวิกฤตครั้งนี้มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง การดำเนินธุรกิจจะต้องปรับลึกลงไปถึงวัฒนธรรมองค์กรเพื่อเตรียมรับมือกับ “ชีวิตวิถีใหม่” หรือที่เรียกกันว่า “New normal”

เป็นเวลากว่า 8 สัปดาห์แล้ว ที่ทั่วโลกถูก Lock down อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และสิ่งที่เราสังเกตเห็นได้จากในประเทศแถบเอเชียที่เริ่มมีการปลดล็อก โดยให้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างประเทศจีนและเกาหลีใต้ โดยนักวิเคราะห์จากองค์กรชั้นนำต่าง ๆ (BCG, McKinsey, Deloitte, Wunderman Thompson) ได้ออกมาคาดการณ์ถึง 4 พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยคาดว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะมีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 2 ปี ดังนี้

  • ผู้บริโภคมี Value Mindset มากขึ้น

เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั้งในประเทศและทั่วโลก อีกทั้งยังประสบปัญหาด้านการขาดแคลนรายได้เนื่องจากการ Lock down ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคและการใช้จ่าย จากการสำรวจด้านความเชื่อมั่นผู้บริโภคในวิกฤตโควิด-19 โดย BCG และการสำรวจผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลกของ Wunderman Thompson’s แสดงให้เห็นว่าจากประเทศที่ทำการสำรวจทั้งหมด ประชากรชาวไทยมีความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจน้อยและจากผลสำรวจของ BCG ยังแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มการใช้จ่ายที่ลดลงในทุกหมวดหมู่ ทั้งในประเทศไทย หรือแม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็มีการใช้จ่ายที่ลดลงเช่นกัน

แล้วสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจ? ผลการศึกษาและวิจัยจาก McKinsey และ Wunderman Thompson พบว่าผู้บริโภคชาวจีนเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมากที่สุด โดยคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติได้ภายใน 2-6 เดือน อย่างไรก็ตามแม้ผู้บริโภคชาวจีนจะเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่พวกเขาก็ยังต้องการลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในอีก 6 เดือนข้างหน้า

สิ่งสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องมีความเข้าใจต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปมีดังนี้ :

  • ต้องแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความคุ้มค่าต่อผู้บริโภคอย่างชัดเจน – ธุรกิจต้องทบทวนเกี่ยวกับวิธีการนำเสนอสินค้าและบริการของตนกับผู้บริโภค ซึ่งต้องมีความชัดเจน และแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าที่ลูกค้าจะได้รับ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับ Brand Loyalty น้อยลง และพิจารณาที่ความคุ้มค่าเป็นหลัก
  • การวางตำแหน่งทางการตลาดของผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ใหม่ – หากคุณอยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงโดยที่สินค้าของคุณยังไม่มีจุดขายที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆในหมวดหมู่เดียวกันมากนัก คุณอาจต้องวางตำแหน่งทางการตลาดของผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องต่อกรอบแนวคิดของลูกค้าที่ให้ความสำคัญต่อคุณค่าและราคา ตัวอย่างที่เห็นในธุรกิจแฟชั่นของอเมริกาเหนือที่แบรนด์ไฮเอน อย่างเช่น Rag & Bone และ Frame ต่างหั่นราคาลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในภาวะการณ์เช่นนี้
  • สุขอนามัยและความสะอาดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ สิ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคคือการรักษาความสะอาดและสุขอนามัยที่ดี ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันไวรัส ที่ทุกฝ่ายต่างให้ความสำคัญไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือประชาชน

โดยเห็นได้ชัดจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ล้างมือ แอลกอฮอลล์ และผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งธุรกิจที่เป็น B2C จำเป็นต้องเข้าใจถึงความสำคัญของพฤติกรรมใหม่นี้ก่อนที่จะทำการเปิดธุรกิจของคุณอีกครั้ง ซึ่งต้องคำนึงถึงทั้งสุขอนามัยของลูกค้าและพนักงาน

โดยนอกจากจะมีมาตราการที่เข้มงวดในการรักษาความสะอาดแล้ว ยังต้องจำกัดจำนวนลูกค้าเข้าใช้บริการ รวมถึงหลีกเลี่ยงการชำระเงินสดเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ เนื่องจากผลสำรวจพบว่า 50% ของคนไทยยังคงไม่ต้องการออกไปในที่สาธารณะโดยยังมีความกังวลเกี่ยวกับด้านสุขอนามัยอยู่

จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดย BCG ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เผยให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญบางประการที่จะทำให้ธุรกิจยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคได้เมื่อกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ ซึ่งได้แก่

  1. การเว้นระยะห่างทางสังคม
  2. มีมาตราการด้านการรักษาสุขอนามัยและความสะอาด เช่น จัดให้มีเจลล้างมือ มีการทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อพื้นที่อยู่เสมอ ใช้อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ รวมถึงการตรวจสอบอุณหภูมิเพื่อคัดกรองผู้ใช้บริการ และติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ

อย่างไรก็ตามธุรกิจจำเป็นต้องเข้าใจว่าไม่มีทางใดที่จะทำให้ผู้บริโภคกลับมามั่นใจได้ 100% จนกว่าจะพบวัคซีนในการรักษา และไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ธุรกิจยังต้องคำนึงถึง Customer Journey ในการที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจ และจัดเตรียมแผนการเพื่อรองรับความเสี่ยงในสถานการณ์ต่างๆอีกด้วย

3) ผู้บริโภคให้การยอมรับกับช่องทาง Digital มากขึ้นในทุกช่วงอายุ

เห็นได้จากจากการช้อปปิ้งออนไลน์, การใช้โซเชียลมีเดีย, การใช้ Food delivery , การประชุมทางวิดีโอ, การชมภาพยนตร์ใน online streaming ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีการใช้งานเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ดังที่เห็นได้จากจำนวนสมาชิกของ Netflix ในไตรมาสที่ 1 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากไตรมาสก่อนหน้าและเพิ่มขึ้นสูงสุดกว่าทุกไตรมาสที่ผ่านมาของบริษัท นอกจากนี้ผลสำรวจจาก Line Thailand ก็พบว่ามีแนวโน้มการใช้งานที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยพบว่าผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นมีทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน Line Today (+ 20%), Shopping Line (+ 68%) หรือ Line TV (+ 24%)

จากการสำรวจความเชื่อมั่นของ McKinsey ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน ประเทศในแถบเอเชียได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น พบว่ามีการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตและซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคในประเทศไทยเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคข่าวสาร ด้านความบันเทิง ด้านโซเชียลมีเดีย หรือการจับจ่ายใช้สอย

จากการ Lockdown ทำให้เห็นว่าผู้บริโภคหันมาทำกิจกรรมต่างๆผ่านทางช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ไม่เพียงแต่คนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้บริโภคที่เป็นคน Gen X และ Baby boomers ต่างก็หันมาเปิดรับสื่อ Digital และเทคโนโลยีให้เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากกว่าที่เคย

วิกฤตการณ์นี้ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้บริโภคให้เข้าสู่ช่องทาง Digital อย่างสิ้นเชิง ดังนั้นธุรกิจทุกประเภทจำเป็นต้องเร่งวางกลยุทธ์ให้พร้อมและพิจารณาเกี่ยวกับการทำ omnichannel เพื่อตอบโจทย์การให้บริการลูกค้าในภาวะ New normal เช่นนี้

4) การใช้ชีวิตภายในบ้าน vs. การแสวงหาความบันเทิงนอกบ้าน

จากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก บวกกับความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้ผู้บริโภคต้องตัดสินใจลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับด้านสุขอนามัยในพื้นที่สาธาณะ รวมถึงการหันมานิยมใช้สื่อบันเทิงดิจิทัลเพิ่มขึ้น  จากการสำรวจของ McKinsey และ BCG ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าผู้บริโภคในแถบเอเชียวางแผนที่จะใช้เวลาในบ้านมากขึ้น โดยจะใช้เวลาในบ้านไปกับสื่อบันเทิงออนไลน์ รวมถึงการทำอาหารที่บ้านหรือซื้ออาหารกลับมาทานที่บ้านแทนที่จะออกไปทานข้างนอก

ในช่วงสัปดาห์แรกของการ Lock down เราได้เห็นผู้คนจำนวนมากต่างแห่กักตุนอาหารตามซุปเปอร์มาเก็ตจนเกลี้ยงแผง  ตามด้วยคลื่นลูกที่สอง คือผู้คนหันมาจับจ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการ Work from home ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะทำงาน, จอคอมพิวเตอร์ ฯลฯ และคลื่นลูกที่สามคือผู้คนบางส่วนที่จากเดิมแทบไม่เคยอยู่บ้าน ก็หันมาใส่ใจในการปรับปรุงพื้นที่อยู่อาศัยให้สวยงามและมีความสะดวกสะบาย เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้คือแนวโน้มของผู้บริโภคชนชั้นกลางไปจนถึงชั้นบน ที่มีทั้งกำลังทรัพย์ในการจัดหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ตนมีให้สอดคล้องกับ Life style ที่เปลี่ยนไป ในขณะที่ First Jobber ที่อาศัยอยู่ในเมืองยังคงโหยหาความบันเทิงจากภายนอกอยู่ เนื่องจากภาวะเบื่อหน่ายในการกักตัวอยู่บ้านเป็นเวลานาน

ธุรกิจจำเป็นต้องตามให้ทันเทรนด์การบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและปรับแผนธุรกิจของตนให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคปัจจุบันที่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านมากกว่าที่จะออกไปข้างนอก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ เช่น สินค้าประเภทแฟชั่นและเสื้อผ้า เหมือนที่เราได้เห็นแบรนด์เสื้อผ้าหลายๆแบรนด์ ในอเมริกาได้ปรับเปลี่ยนคอลเลคชั่นใหม่ๆ โดยเปลี่ยนจากความเป็น Fast fashion ที่เน้นความสวยงาม มาเน้นในด้านความสวมใส่สบายแทน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มองหาเสื้อผ้าสบายๆสำหรับใส่อยู่บ้าน

 

  1. คิดถึงประโยชน์ของลูกค้ามากกว่าการมุ่งแสวงหาผลกำไร

บทเรียนที่สำคัญที่สุดในช่วงวิกฤตนี้ที่จะทำให้ธุรกิจหรือแบรนด์ของเราไปต่อได้นั้น มีสิ่งสำคัญซึ่งนักยุทธศาสตร์ด้านแบรนด์และการตลาดแนะนำเอาไว้คือ “Care, Connect และ Empathize” นั่นคือธุรกิจควรพึงระมัดระวังในการสื่อสารกับลูกค้า ขณะนี้ในหลายธุรกิจต้องทำเงินผ่านการขายและจัดโปรโมชั่นมากมายที่ลดแลกแจกแถมอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อที่จะพยุงกิจการให้อยู่รอด แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจยังจำเป็นต้องตระหนักถึงกระแสสังคมและสถานการณ์ให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะทำการสื่อสารออกไป เพราะหากสื่อสารผิดพลาดขึ้นมาอาจถูกกระแสสังคมตีกลับได้ เช่น อาจเกิดแฮชแท็กโจมตีแบรนด์ของเราใน Twitter เป็นต้น

ธุรกิจควรมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคไม่ว่าพวกเขาจะเป็นลูกค้าเก่าหรือใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ และทำให้แบรนด์เป็นสิ่งแรกที่ลูกค้านึกถึงในยามที่พยวกเขาต้องการ

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่ทีมของเราเล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเจ้าของธุรกิจและผู้บริหารในทุกอุตสาหกรรมที่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อให้กิจการกลับมาแข็งแรงได้หลังจากการปิดประเทศ ซึ่งทีมวิเคราะห์ข้อมูลของเราได้รวบรวมข้อมูลการสำรวจจากอุตสาหกรรมกว่า 50 รายการ รวมถึงการสำรวจและศึกษาข้อมูลทางการตลาดที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลเชิงลึกนี้เพื่อท่านโดยเฉพาะ

เพื่อไม่ให้พลาดข้อมูลสำคัญจากเรา ท่านสามารถติดตามบทความและข่าวสารสำหรับทุกธุรกิจที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่โลก Digital ได้ทาง Facebook page : JIB Digital Consult และทางเว็บไซต์ www.jibdigitalconsult.com โดยทีมงานจะคอยอัพเดตเทรนด์ดิจิทัลที่น่าสนใจและข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญต่อธุจกิจให้อย่างต่อเนื่อง